ศิลปประดิษฐ์ไทย-โอชิเอะ (Thai Oshie Art)
      ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ในยามที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม หรือถูกรุกรานอธิปไตย ทหารคือผู้เสียสละชีวิต เลือดเนื้อ ความสุขส่วนตัวเพื่อปกป้องประเทศชาติอย่างกล้าหาญ การรบในสมรภูมิต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย ทหารบางคนต้องยอมเสียสละชีวิต เลือดเนื้อ ถึงขั้นได้รับบาดเจ็บ จนถึงสูญเสียอวัยวะของร่างกาย กลายเป็นผู้พิการทุพพลภาพ เพียงเพื่อปกป้องความสงบสุขของประเทศชาติ และด้วยความตระหนักในความเสียสละอันยิ่งใหญ่ดังกล่าว คณะแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทหารผ่านศึกทุกคนจึงถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่มีโอกาสได้ทำการรักษา ดูแล ฟื้นฟู ทั้งสภาพร่างกายและจิตใจของทหารหาญเหล่านี้ด้วยความตั้งใจจริง 
       ผู้ป่วยส่วนใหญ่ของโรงพยาบาลทหารผ่านศึก เป็นทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก และทหารนอกประจำการ ซึ่งทหารผ่านศึกที่พักรักษาตัวส่วนหนึ่งเป็นผู้พิการและพิการทุพพลภาพ รวมจนถึงทหารผ่านศึกบางรายที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลไปตลอดชีวิต
image

      ผู้ป่วยทหารผ่านศึกต้องได้รับการดูแลรักษาทั้งสภาพร่างกายและจิตใจเป็นพิเศษ โรงพยาบาลฯ มีขั้นตอนการรักษาแบบองค์รวมในทุกมิติ คือ การดูแลรักษาสภาวะทางร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณร่วมกัน การรักษาความเจ็บป่วยทางด้านร่างกายตามอาการของผู้ป่วย การฟื้นฟูสมรรถภาพของอวัยวะต่างๆ ด้วยการทำกายภาพบำบัด และฟื้นฟูจิตใจของผู้ป่วยควบคู่ไปพร้อมกัน โดยการทำงานกิจกรรมบำบัด และงานอาชีวบำบัด ซึ่งดำเนินงานโดยศูนย์ฝึกอาชีพของโรงพยาบาลทหารผ่านศึก เริ่มต้นจากการฝึกแกะสลักไม้วิจิตรศิลป์ก่อน แล้วจึงให้ทหารผ่านศึกผู้พิการทุพพลภาพที่สนใจในงานด้านอื่นๆ ได้หันมาลองฝึกกิจกรรมบำบัดอย่างอื่น

      โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงมีรับสั่งขอให้ อาจารย์ เทรุโอะ โยมูระ อาจารย์ชาวญี่ปุ่น ผู้มีความสนใจและชื่นชอบในศิลปะของไทยเป็นอย่างมาก และเป็นอาจารย์ผู้สอนวิชาวาดเขียนในโรงเรียนจิตรลดา มาช่วยสอนงานศิลปะ ที่ผสมผสานระหว่างศิลปะญี่ปุ่นและศิลปะไทย ที่เรียกว่า ศิลปประดิษฐ์ไทย–โอชิเอะ ให้แก่ทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพ เพิ่มขึ้นจากงานแกะสลักไม้วิจิตรศิลป์อีกแขนงหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าศิลปะแขนงนี้ต้องใช้ความประณีตและความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก ในการออกแบบผลงานแต่ละชิ้น มีขั้นตอนและวิธีทำที่ละเอียดอ่อนมาก ศิลปประดิษฐ์ไทย–โอชิเอะต้องอาศัยการประดิษฐ์ขึ้นด้วยมือและความคิดสร้างสรรค์ของผู้สร้างผลงาน โดยผู้ประดิษฐ์ศิลปประดิษฐ์ไทย–โอชิเอะจะทำชิ้นส่วนต่างๆ ทีละชิ้น ห่อหุ้มชิ้นส่วนให้สวยงามด้วยผ้าไทยลายต่างๆ ซึ่งผู้ประดิษฐ์สร้างสรรค์ให้เป็นส่วนประกอบแต่ละส่วนที่เสมือนจริงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า อวัยวะส่วนต่างๆ เครื่องนุ่งห่ม หรือส่วนประกอบอื่นๆ และนำมาประกอบกันเป็นภาพนูนสูงสามมิติตามรูปแบบที่กำหนดไว้ ซึ่งภาพศิลปประดิษฐ์ไทย–โอชิเอะที่เป็นที่นิยมและมีความต้องการในตลาดสูง อาทิ ภาพทางศาสนา ภาพวิวทิวทัศน์ ภาพตัวละครในวรรณคดีต่างๆ ภาพประเพณีไทย รวมไปถึงบริการผลิตภาพตามความต้องการของผู้ประสงค์ต้องการซื้อภาพอีกด้วย ซึ่งระยะเวลาในการผลิตภาพศิลปประดิษฐ์ไทย–โอชิเอะขึ้นอยู่กับความละเอียดของภาพ ขนาดของภาพ และความชำนาญของผู้ผลิต เนื่องจากภาวะทางสภาพร่างกาย บางชิ้นงานอาจใช้เวลาถึง 2 สับดาห์ หรือมากกว่านั้น

image
image
image
Honor The Heroes ตอน กิจกรรมบำบัดเพื่อฝึกอาชีพทหารผ่านศึก
ผู้ป่วยทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลฯ ผู้ประดิษฐ์ศิลปประดิษฐ์ไทย–โอชิเอะ
ร้อยโท สุธน อ่ำขำ 
อายุ 64 ปี บัตรชั้นที่ 1
สิบตรี บุญปลูก ถือขุนทด
อายุ  51  ปี บัตรชั้นที่ 3
พลฯ ตอย สุขศรีเด่น
อายุ 64 ปี บัตรชั้นที่ 4
สิบเอก เอกลักษณ์  กันทะยา
อายุ 38 ปี บัตรชั้นที่ 1
อ.ส.ทพ. พิสิฐพงษ์ อุทัยเขตต์
อายุ 57 ปี บัตรชั้นที่ 1
สิบเอก บุญธรรม  ศรีวันทา
อายุ 58 ปี บัตรชั้นที่ 4
จ่าสิบเอก รัตนปรีชา โสภากิจเจริญ
อายุ 64 ปี บัตรชั้นที่ 4
พลฯ เฉลียว บุตรงามดี
อายุ 61 ปี บัตรชั้นที่ 4
พลฯ สมบูรณ์ เรืองศรี
อายุ 61 ปี บัตรชั้นที่ 4 
นายแก้ว ลำนัย
อายุ 67 ปี บัตรชั้นที่ 1
อส.ทพ. สมไทย สุทธิธรรม
อายุ .... ปี บัตรชั้นที่ 1
image
      ปัจจุบันทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพที่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ได้เรียนรู้ ฝึกฝนกิจกรรมบำบัด จนมีทักษะความเชี่ยวชาญเพิ่มมากขึ้นสามารถประดิษฐ์ผลงานศิลปะที่สวยงาม มีความเป็นเอกลักษณ์ ได้รับการเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักและยอมรับของบุคคลทั่วไป นอกจากนั้น โรงพยาบาลฯ ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีรับสั่งให้ทหารผ่านศึกผู้ผลิตศิลปประดิษฐ์ไทย–โอชิเอะเข้าเฝ้าน้อมเกล้าฯ ถวายผลงานที่ตนเองสร้างขึ้น เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นประจำทุกปี ซึ่งยังคงความปลื้มปิติ แก่เหล่าทหารผ่านศึกพิการอย่างล้นพ้น จนหาที่สุดมิได้ นอกจากนี้โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ได้ดำเนินการช่วยส่งเสริมและประชาสัมพันธ์กิจกรรมบำบัดจากทหารผ่านศึกที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลฯ ทำให้มีผู้สนใจมาเยี่ยมชมอยู่เนื่องๆ และสามารถจัดจำหน่าย สร้างรายได้ให้แก่ทหารผ่านศึกผู้พิการฯ อีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นการฟื้นฟูทั้งทางร่างกายและจิตใจ ใช้เวลาว่างทำให้พวกเขาเหล่านั้นรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีอาชีพ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมผลงานทั้งหมด และสั่งซื้อได้ที่ ศูนย์กิจกรรมบำบัดและฝึกอาชีพโรงพยาบาลทหารผ่านศึก อาคาร 2 ชั้น 2 โทร. 02-644-9400 ต่อ 20211
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้