image
ประวัติโรงพยาบาลทหารผ่านศึก

       โรงพยาบาลทหารผ่านศึก เป็นโรงพยาบาลที่ก่อตั้งโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 แรกเริ่มได้ถือกำเนิดจากสถานปฐมพยาบาลมีฐานะเป็นเพียงกองแพทย์แผนกหนึ่งในกองสวัสดิการ ขององศ์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ตามมติสภาฯ ครั้งที่ 2/91 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2491 ทรงให้ตั้งสถานพยาบาลขึ้น และในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2491 ได้จัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยปฏิบัติการด้านการรักษาพยาบาลแก่ทหารผ่านศึกนอกประจำการ เพื่อให้การสงเคราะห์ตามระเบียบองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ฉบับที่ 3 ข้อ 5 ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2491 และให้บริการแก่ประชาชนในด้านการรักษาพยาบาล จ่ายค่ารักษาพยาบาลโดยคิดค่ารักษาพยาบาลตามสมควร โดยมีสถานที่ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
  • พ.ศ.2491-2494  ห้องชั้นล่างที่ทำการ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเก่า ณ ศาลหลักเมือง
  • พ.ศ.2495-2497 ย้ายและขยายที่ทำการไปอยู่ที่ กองพยาบาลศาลเด็ก ชั้นบนจัดเป็นสถานที่พักผู้ป่วยและรับทำการคลอดบุตร
  • พ.ศ.2497-2505 ย้ายกลับ ห้องชั้นล่าง องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเก่า ณ ศาลหลักเมือง
  • พ.ศ.2505-2510 ย้ายมาที่อาคารทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพ พญาไท ถนนราชวิถี เนื่องจากมีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้น
  • พ.ศ.2510-2513  ย้ายจากอาคารทหารผ่านศึก มาอยู่ตึกเล็กสองชั้นข้างทางเข้าองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก
  • พ.ศ.2512  ได้ยกฐานะสถานพยาบาลขึ้นเป็น กองแพทย์ โดยรวมกิจการการรักษาพยาบาล การฟื้นฟูบำบัด และการฝึกอาชีพทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพไว้ด้วยกัน จึงได้ทำการก่อสร้างอาคารกองแพทย์ขึ้นในที่ดินที่รับมอบจากกองทัพบก ที่ถนนวิภาวดีรังสิต
  • พ.ศ.2513 ย้ายมาอยู่ที่ถนนวิภาวดี (วิภาวดี-รังสิต) จนถึงปัจจุบัน

 

   

  

 

          กองแพทย์แห่งนี้เกิดขึ้นโดยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 โดยทรงมีพระราชดำริให้มีการดูแลทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพ ในด้านการฟื้นฟู บำบัด และการฝึกหัดอาชีพ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดอาคารด้วยพระองค์เอง เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2513

  • พ.ศ.2517 ได้ยกฐานะกองแพทย์ขึ้นเป็น โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ตามมติสภาฯ ครั้งที่ 1/17 และได้ทำการก่อสร้างอาคาร 6 ชั้น เพื่อรองรับผู้ป่วยไว้รักษาพยาบาล 1 หลัง ซึ่งมีขีดความสามารถรองรับผู้ป่วยในการรักษาพยาบาลได้ 100-120 เตียง และได้เริ่มให้บริการในรูปแบบโรงพยาบาลได้ตั้งแต่ พ.ศ.2521 เป็นต้นมา
  • พ.ศ.2528 ได้ทำการก่อสร้างอาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟูและออร์โธปิดิกส์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ก่อสร้างตามแผนกำหนดการของโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ระยะที่ 2 และได้ทำการย้ายผู้ป่วยทหารพิการอัมพาตมาไว้ที่อาคารนี้ เพราะสถานที่เดิมคับแคบและไม่ค่อยถูกสุขลักษณะ
  • พ.ศ.2530 ได้ทำการรื้อถอนอาคารอำนวยการเดิม ซึ่งได้ทำการก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ.2512 (เนื่องจากอาคารเดิมทรุดตัว) และได้ก่อสร้างอาคารอำนวยการใหม่ แนบชิดกับอาคารโรงพยาบาลเดิมขนาด 6 ชั้น หากก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ และโรงพยาบาลฯ มีงบประมาณสนับสนุนเพียงพอแล้วจะสามารถเพิ่มเตียงรับผู้ป่วยไว้รักษาได้อีก รวมเป็น 300 เตียง
 

อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา


    ในปีพุทธศักราช 2550 เป็นวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา เพื่อถวายความจงรักภักดี และสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระราชทานแก่ทหารผ่านศึกผู้ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บจนถึงพิการ หรือพิการทุพพลภาพ โรงพยาบาลฯ จึงได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งเป็นอาคารอเนกประสงค์ สูง 12 ชั้น และอาคารจอดรถยนต์สูง 10 ชั้น และขยายจากโรงพยาบาลขนาด 300 เตียง เป็นโรงพยาบาลขนาด 500 เตียง ในวงเงิน 507,000,000 บาท (ห้าร้อยเจ็ดล้านบาทถ้วน) แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2554 โดยได้รับพระราชทานชื่ออาคารว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา” พร้อมทั้งได้รับพระบรมราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554 ประดิษฐานบนอาคารดังกล่าว และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารฯ เมื่อวันอังคารที่  14  สิงหาคม  พ.ศ.2555  เวลา 10.00 น.


     

image

      เนื่องจากในปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทหารผ่านศึกที่บาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกส่งตัวมารับการดูแลต่อที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก โดยบางรายจะต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์ไปจนตลอดชีวิต ดังนั้น เพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวของผู้ป่วย รวมทั้งมีอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยได้มาตรฐาน ดังนั้น องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาโรงพยาบาลทหารผ่านศึก เพื่อเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ

อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา  ประกอบด้วย

  • ชั้นที่ 1   ห้องบัตร ห้องยา ห้องการเงิน และห้องตรวจโรคทางอายุรกรรม
  • ชั้นที่ 2   ห้องตรวจโรคศัลยกรรมกระดูก และศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ
  • ชั้นที่ 3   การตรวจทางห้องทดลอง (Lab) คลังโลหิต และห้องเอกซเรย์ (X-Ray)
  • ชั้นที่ 4   ศูนย์กายภาพบำบัด
  • ชั้นที่ 5   ห้องตรวจโรคกุมารเวชกรรม ตรวจตา หู คอ จมูก และสูติ-นรีเวชกรรม
  • ชั้นที่ 6   ห้องตรวจโรคศัลยกรรมทั่วไป ห้องประชุม และศูนย์สารสนเทศและประชาสัมพันธ์
  • ชั้นที่ 7  หอผู้ป่วยหนัก (ICU) และห้องผ่าตัด
  • ชั้นที่ 8   ห้องผ่าตัด
  • ชั้นที่ 9   ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
  • ชั้นที่ 10 ห้องพักผู้ป่วยพิเศษ เตียงคู่
  • ชั้นที่ 11 ห้องพักผู้ป่วยพิเศษ เตียงเดี่ยว
  • ชั้นที่ 12 ห้องพักผู้ป่วยพิเศษพิเศษ VIP
  • อาคารจอดรถสูง 10 ชั้น มีทางเชื่อมกับอาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มารับบริการ สามารถให้บริการจอดรถได้ 365 คัน


     โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ได้ให้การสงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก รวมถึงประชาชนทั่วไป มีขีดความสามารถเป็นโรงพยาบาลทั่วไป แต่ได้เน้นหลักทางด้านการฟื้นฟูบำบัดและการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ทหารผ่านศึกเป็นหลัก เพราะโดยหลักการแล้วโรงพยาบาลเพื่อรักษาด้านต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีหลายแห่ง แต่โรงพยาบาลที่จัดสร้างขึ้นเพื่อภารกิจหน้าที่นี้มีเพียงแห่งเดียว ซึ่งโรงพยาบาลทหารผ่านศึกได้ตระหนักถึงภารกิจด้านนี้จึงได้พยายามทุกวิถีทางที่จะผลักดันให้โรงพยาบาลมีขีดความสามารถสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้พิการทุพพลภาพ ซึ่งโรงพยาบาลยึดถือหลักการฟื้นฟูทางด้านร่างกายจะต้องดำเนินควบคู่ไปกับการฟื้นฟูทางด้านจิตใจ ให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ท้อถอย และให้คิดอยู่เสมอว่าถึงจะพิการก็ยังมีประโยชน์และมีคุณค่าต่อสังคมเสมอ 

 

 

-----------------------------------------------
  โรงพยาบาลทหารผ่านศึก
  123 ถนนวิภาวดี-รังสิต แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้